Calander

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เรื่องของเส้น

เรื่องของเส้น





“ก๋วยเตี๋ยว”นับว่าเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทยรองจากข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักที่คนไทยนิยมกินเป็นประจำทุกวัน คำว่า “ก๋วยเตี๋ยว” มักเป็นคำรวมเรียกอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ เส้นหมี่ หรือบะหมี่ เห็นได้จากการที่เราไปกินอาหารประเภทเส้นก็มักจะพูดว่า “ไปกินก๋วยเตี๋ยว” ทั้งๆ ที่อาหารที่ไปกินอาจเป็นบะหมี่หรือเส้นหมี่ก็ตาม


อาหารประเภทเส้นเหล่านี้ทำมาจากวัตถุดิบประเภทข้าว ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ เส้นหมี่ ทำจากแป้งข้าวเจ้า ส่วนบะหมี่ทำจากแป้งข้าวสาลี ดังนั้นคุณค่าทางโภชนาการหลักที่ได้รับจากการกินอาหารเส้นนี้ก็คือ “คาร์โบไฮเดรต” ซึ่งจะให้พลังงานแก่ร่างกาย นอกจากนี้ยังได้รับสารอาหารชนิดอื่นๆ อีกเล็กน้อย เช่น โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุุ



ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารที่คนไทยนิยมบริโภคเป็นอาหารกลางวัน ซึ่งรูปแบบของก๋วยเตี๋ยวก็มีทั้งก๋วยเตี๋ยวแห้ง ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ตลอดจนก๋วยเตี๋ยวผัด ส่วนประกอบหลักของก๋วยเตี๋ยวแบบชนิดต่างๆ ก็มีเหมือนๆ กัน คือเส้นก๋วยเตี๋ยว ผัก และเนื้อสัตว์ สำหรับก๋วยเตี๋ยวแห้งและก๋วยเตี๋ยวน้ำมักเรียกชื่อตามชนิดเนื้อสัตว์ที่ใช้ จึงมีทั้งก๋วยเตี๋ยวหมู ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ก๋วยเตี๋ยวไก่ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ก๋วยเตี๋ยวปลา ฯลฯ ผักที่นิยมใส่ในก๋วยเตี๋ยวมีทั้งถั่วงอก กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว นิยมใส่ในก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวหมูชนิดหนึ่ง ส่วนกวางตุ้งนิยมใส่ในบะหมี่เกี๊ยวหมูแดง คะน้าพบได้ในก๋วยเตี๋ยวเป็ด ส่วนก๋วยเตี๋ยวผัดนิยมใส่คะน้าในเมนูผัดซีอิ๊วและราดหน้า สำหรับผักกาดหอมใส่ในก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ถั่วงอกใช้กันมากในก๋วยเตี๋ยวผัดไทย


นอกจากส่วนประกอบหลักข้างต้นแล้ว ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือน้ำมัน ซึ่งทำเป็นน้ำมันกระเทียมเจียวสำหรับใส่ในก๋วยเตี๋ยวแห้งและก๋วยเตี๋ยวน้ำ สำหรับก๋วยเตี๋ยวผัดจะใช้น้ำมันในปริมาณมากกว่าการปรุงก๋วยเตี๋ยวแห้งและก๋วยเตี๋ยวน้ำ นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำก๋วยเตี๋ยวคือเครื่องปรุงรส
ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา น้ำตาล และพริก


ก๋วยเตี๋ยวแต่ละชนิดที่ปรุงเสร็จแล้วจะให้คุณค่าทางโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ คือให้สารอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์และไข่ที่เติมลงไป คาร์โบไฮเดรตจากเส้นก๋วยเตี๋ยวและน้ำตาล วิตามินและแร่ธาตุจากผักและเนื้อสัตว์ ไขมันจากน้ำมัน แต่ทั้งนี้ก๋วยเตี๋ยวชนิดต่างๆ ต้องปรุงด้วยวัตถุดิบที่ครบถ้วน ตัวอย่างเช่น ถ้ากินก๋วยเตี๋ยวไม่ใส่ผัก ก็จะไม่ได้รับวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด และก๋วยเตี๋ยวบางชนิด เช่น ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ซึ่งมีผักแนมหลายอย่าง ทั้งหัวปลี ผักแว่น กุยช่าย หากกินผักเหล่านี้ด้วยก็จะทำให้ได้รับวิตามินและแร่ธาตุมากขึ้น






พลังงานที่ได้รับจากก๋วยเตี๋ยวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับส่วนประกอบต่างๆ ในก๋วยเตี๋ยวนั้นต่างๆ ก๋วยเตี๋ยวที่ให้พลังงานสูง ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยและก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว เพราะใช้น้ำมันในการผัดมากกว่าก๋วยเตี๋ยวอื่นๆ อีกทั้งยังใส่ไข่ด้วย ด้านรสชาติออกหวาน พลังงานที่ได้รับจึงค่อนข้างสูง ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยและก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว 1 จานให้พลังงาน 600-680 กิโลแคลอรี ในขณะที่ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าให้พลังงานประมาณ 350 กิโลแคลอรี คนที่อ้วนหรืออยู่ระหว่างการเฝ้าระวังเรื่องน้ำหนักตัวจึงไม่ควรกินบ่อย ควรเลือกกินอาหารชนิดอื่นหรือก๋วยเตี๋ยวอื่นที่ให้พลังงานน้อยกว่าแทน


สำหรับก๋วยเตี๋ยวน้ำและก๋วยเตี๋ยวแห้งนั้น ก๋วยเตี๋ยวแห้งให้พลังงานสูงกว่าก๋วยเตี๋ยวน้ำ เพราะในกระบวนการปรุงก๋วยเตี๋ยวแห้งต้องใช้น้ำมันกระเทียมเจียวคลุกเคล้ากับเส้นที่ลวกแล้วเพื่อป้องกันเส้นติดกัน หากไม่คลุกน้ำมันกระเทียมเจียวก็จะไม่อร่อย กินแล้วฝืดคอ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ก๋วยเตี๋ยวแห้งมีพลังงานสูง ดังนั้นคนที่กลัวหรือระวังไม่ให้อ้วน หรืออ้วนแล้ว จึงควรเลือกกินก๋วยเตี๋ยวน้ำมากกว่าก๋วยเตี๋ยวแห้ง แต่ทั้งนี้ต้องใส่น้ำมันกระเทียมเจียวไม่มากนักเพื่อไม่ต้องได้รับพลังงานมากเกินไป


สิ่งหนึ่งที่ควรระวังในการกินก๋วยเตี๋ยวคือ การปรุงรส คนส่วนใหญ่มักปรุงรสก๋วยเตี๋ยวโดยไม่ชิมก่อน ทำให้ได้ก๋วยเตี๋ยวที่มีรสจัดเกินไป โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเค็มจัด หวานจัด หรือเปรี้ยวจัดก็ตาม ดังนั้นจึงควรชิมก่อนปรุงทุกครั้งเพื่อไม่ต้องกินอาหารรสจัดเกินไป นอกจากนี้นักวิชาการพบว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากการกินอาหารรสเค็มจัดเป็นประจำ ซึ่งเมื่อลดการกินอาหารรสเค็มก็จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้







การเติมถั่วลิสงป่นลงในก๋วยเตี๋ยว ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวแห้ง หรือก๋วยเตี๋ยวผัดก็ตาม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งตับ โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เก็บตัวอย่างก๋วยเตี๋ยวต้มยำจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาตรวจหาอะฟลาท็อกซิน ปรากฏว่าพบสารพิษดังกล่าวถึง 92 เปอร์เซ็นต์ คือก๋วยเตี๋ยว 100 ชามพบว่ามีอะฟลาท็อกซินสูงถึง 92 ชาม นอกจากนี้ยังพบในก๋วยเตี๋ยวผัดไทยอีกด้วย นอกจากพบอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงแล้ว ยังพบได้ในพริกแห้งอีกด้วย ดังนั้นการป้องกันก็คือควรหลีกเลี่ยงถั่วลิสงที่ป่นไว้เป็นเวลานาน ถั่วลิสงหรือพริกแห้งป่นที่มีความชื้น ถ้าไม่มั่นใจว่าแห้งสนิทและใหม่ไม่ควรกินเด็ดขาด

นอกจากก๋วยเตี๋ยวต่างๆ ข้างต้นแล้ว ปัจจุบันมีก๋วยเตี๋ยวอีกชนิดหนึ่งที่น่าจะส่งเสริมให้บริโภคกันมากขึ้น นั่นคือ “ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน” ซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่นำมาห่อผักชนิดต่างๆ ทั้งกะหล่ำปลีหั่นฝอย แครอต สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง โหระพา ผักกาดหอม เป็นต้น ใส่หมูยอหรือหมูสับหั่นชิ้นพอคำ และมีน้ำจิ้มหรือน้ำราดที่มีลักษณะเหมือนน้ำยำ ทำจากน้ำปลา น้ำมะนาว พริกขี้หนูสดสับละเอียด น้ำตาลทราย กระเทียมสับ บางคนอาจใส่มะม่วงซอยด้วย ซึ่งการกินก๋วยเตี๋ยวลุยสวนนี้จะได้รับพลังงานต่ำ แต่ยังได้วิตามินและแร่ธาตุ ตลอดจนสารที่ไม่ใช่อาหารที่มีตามธรรมชาติ (สารพฤกษเคมี) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
จากผักหลากชนิดที่ใส่ลงไป


การปรุงก๋วยเตี๋ยวลุยสวนก็ทำได้ง่ายๆ โดยซื้อก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ที่ยังไม่ได้หั่น แล้วเตรียมผักต่างๆ ข้างต้นนำมาล้างให้สะอาด กะหล่ำปลีควรแกะออกเป็นกาบแล้วจึงล้าง แครอตปอกเปลือกออกแล้วซอยยาวๆ สะระแหน่และโหระพาเด็ดเป็นใบๆ ผักกาดหอมและผักชีฝรั่งล้างสะอาดแล้วเด็ดเป็นใบ เวลาห่อก็นำก๋วยเตี๋ยวมาแผ่ออก นำผักกาดหอมทั้งใบและผักชีฝรั่ง 2 ใบวางเรียงบนแผ่นก๋วยเตี๋ยว นำผักอื่นๆ ที่หั่นเตรียมไว้มาวางเรียงให้เต็มแผ่นก๋วยเตี๋ยว นำหมูยอที่หั่นตามยาวเท่าแผ่นก๋วยเตี๋ยว หนาประมาณ 1 เซนติเมตร มาวางเรียงบนผัก หากไม่ชอบหมูยออาจใช้หมูสับแทน แล้วห่อม้วนให้แน่น เวลาจะกินก็ตัดเป็นชิ้นพอคำ


สำหรับน้ำราดก็เตรียมเหมือนน้ำยำ คือนำพริกขี้หนูสวนและกระเทียมเล็กน้อยมาตำให้แหลก แล้วจึงเติมน้ำปลา (ต้องเป็นน้ำปลาแท้) น้ำตาลทราย และน้ำมะนาว ชิมรสชาติตามที่ชอบ ซึ่งจะต้องมีรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด หากซอยมะม่วงเปรี้ยวลงไปด้วยจะทำให้รสชาติอร่อยมากขึ้น ปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้าก๋วยเตี๋ยวลุยสวนบางเจ้าใช้หมูยอทอดแทนหมูยอนึ่ง ซึ่งจะทำให้ก๋วยเตี๋ยวลุยสวนมีพลังงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย


ก๋วยเตี๋ยวต่างๆ เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เรามีอาหารที่หลากหลายและให้ประโยชน์ต่อร่างกายได้ แต่จะให้ประโยชน์มากน้อย เหมาะสม และปลอดภัยต่อร่างกายเพียงใด ขึ้นอยู่กับตัวผู้บริโภคเองในการเลือกซื้อ เลือกกิน และเลือกปรุง




ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.gourmetthai.com/newsite/nutrition/nutrition_detail.php?content_code=CONT617







ออกกำลังแบบแอโรบิก ช่วยลดความอ้วน

ออกกำลังแบบแอโรบิก ช่วยลดความอ้วน




การเต้นแอโรบิก คือการขยับร่างกายให้กล้ามเนื้อมีการทำงานต่อเนื่องทุกสัดส่วน เมื่อกล้ามเนื้อมีการทำงานตลอด มันก็จะเป็นการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ไม่หย่อนคลอยตามแรงโน้มถ่วงของโลกก่อนวัยอันควร แต่สิ่งที่ได้เพิ่มเติมมาก็คือ

อันดับแรก....ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เพราะเวลาเราออกกำลังกาย โดยเฉพาะแอโรบิกนั้น จะเป็นการออกกำลังกายแบบเกือบจะทุกสัดส่วน เพราะว่ามันต้องเคลื่อนไหวตลอด เมื่อเคลื่อนไหวร่างกายจะสูบฉีดเลือด ทำให้หัวใจทำงาน และช่วยเพิ่มเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น อีกทั้งยังลดอัตรการเต้นของหัวใจ เมื่ออยู่ในภาวะการออกกำลังกาย เมื่อกล้ามเนื้อเราแข็งแรง เราจะออกกำลังกายได้ดี ไม่ค่อยเหนื่อย (ลองนึกถึงแรกๆ เราไปเต้นแอโรบิกดูดิ.. เหนื่อยลิ้นห้อยเลย เต้นตามไม่ทันอีกต่างหาก พอเต้นไปสัก 1 อาทิตย์ ร่างกายเริ่มเข้าที่ เริ่มเหนื่อยช้าลง) และเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ก็ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เพราะว่าหัวใจเราสูบฉีดแรงอยู่แล้ว เส้นเลือดต่างๆ ก็ไม่อุดตัน ความดันเลยปกติ

อันดับที่สอง....ทำให้ระบบหายใจดีขึ้น เพราะปอดมีการรับออกซิเจนมากขึ้น หายใจได้ลึกขึ้น ปอดมีการขยายมากขึ้น และเมื่อปอดขยาย สามารถรับออกซิเจนได้มากขึ้น ร่างกายก็รับออกซิเจนมากขึ้น ทำให้การไหลเวียนของอากาศในปอดทำงานได้ดีขึ้น ทั้งนี้เมื่อมีออกซิเจนมากขึ้น การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ปอด ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งเราออกกำลังกาย ในสถานที่ที่มีออกซิเจนมากๆ เช่น ตามสวนสาธารณะ ที่มีออกซิเจนบริสุทธิมากๆ ปอดก็จะได้รับออกซิเจนที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

อันดับที่สาม
....ช่วยให้ระบบเคมีในเลือดดีขึ้น เพราะการออกกำลังกายเป็นการเผาผลาญไขมัน เมื่อไขมันในร่างกายถูกใช้ไป เลือดของเราก็เดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้ปริมาณไขมันในเลือด (คลอเลสเตอรอล) ลดลง และไตรกลีเซอไรด์ก็ลดลงเช่นกัน ทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน แลโนคหลอดเลือดสมองอุดตัน อีกทั้งยังเพิ่ม HDL (คอเลสเตอรอล ตัวดี ที่ร่างกายต้องการมาก และจะเพิ่มได้ด้วยการออกกำลังกายเท่านั้น) ซึ่งเป็นตัวช่วยลดการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และยังลดน้ำตาลส่วนเกิน ป้องกันโรคเบาหวาน เพราะว่าเวลาเราออกกำลังกาย ร่างกายจะต้องใช้พลังงานมาก ร่างกายจะไปดึงเอาน้ำตาลมาแปลงเป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลส่วนเกินในเลือดต่ำลง ลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานได้

อันดับสุดท้าย....ช่วยในด้านระบบประสาทและจิตใจ และสามารถลดความเครียดได้ดีค่ะ เพราะว่าการออกกำลังกายนั้น คุณจะไม่ค่อยได้คิดเรื่องที่เครียด ใจจะจดจ่อกับการเต้น และเวลาเหงื่อออกจนถึงระดับหนึ่ง ร่างกายก็จะหลั่งสาร Endorphin จากสมอง เป็นสารที่ทำให้ร่างกายรู้สึกสบายค่ะ รู้สึกปลอดโปร่ง



ขอขอบคุณ http://www.thaihealth.or.th/node/7486

บทความการศึกษา


การศึกษา คือการสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นมีลักษณะนิสัยจิตใจที่ดีงาม มีความพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อตนเองและสังคม มีความพร้อมที่จะ ประกอบการงานอาชีพได้ การศึกษาช่วยให้คนเจริญงอกงาม ทั้งทางปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม การศึกษาจึงเป็นความจำเป็นของชีวิตอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากความจำเป็น ด้านที่อยู่อาศัย อาหารเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค การศึกษาจึงเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต เป็นปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาทุก ๆ ด้านของชีวิตและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตในโลกที่มีกระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเท คโนโลยีอย่าง รวดเร็ว และส่งผลกระทบให้วิถีดำรงชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันการศึกษายิ่งมีบทบาทและความจำเป็น มากขึ้นด้วย การศึกษาที่จะช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี มีความสุข จะต้องมีลักษณะ ที่สำคัญดังนี้
1. เป็นการศึกษาที่ให้ความรู้ และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เช่น ความรู้และทักษะทางด้านภาษา การคิดคำนวณ ความเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น สภาพปัจจุบันมีความจำเป็นต้องสนับสนุนให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้น พื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี จึงจะเพียงพอกับความต้องการและความจำเป็นที่จะยกระดับ คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
2. การศึกษาทำให้คนเป็นคนฉลาด เป็นคนมีเหตุผล คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น และ รู้จักวิธีแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และเพื่อการงานอาชีพ
3. การศึกษาต้องสร้างนิสัยที่ดีงาม ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนโดยเฉพาะนิสัยรักการ เรียนรู้ และนิสัยอื่น ๆ เช่นความเป็นคนซื่อสัตย์ ขยัน อดทน รับผิดชอบ เป็นต้น
4. การศึกษาต้องสร้างความงอกงามทางร่างกาย มีสุขภาพพลามัยที่ดี รู้จัก รักษาตนให้แข็งแรง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ และสารพิษ
5. การศึกษาต้องทำให้ผู้เรียนไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมให้ความร่วมมือกับผู้อื่นในสังคม อยู่รวมกับผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยสร้างสังคมที่สงบเป็นสุข รักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน
6. การศึกษาต้องทำให้คนมีทักษะการงานอาชีพที่เพียงพอกับการเข้าสู่การงานอาชีพ รู้จักการประกอบอาชีพและรู้จักพัฒนาการงานอาชีพ
ทั้ง 6 ประการ เป็นพื้นฐานทางการศึกษาที่จำเป็น ที่คนจะต้องได้รับรู้อย่างทั่วถึงทุกคน ถ้าทุกคนได้รับอย่างครบถ้วน เพียงพอก็จะทำให้เกิดทักษะลักษณะและนิสัยที่พึงประสงค์ได้ การศึกษาจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพียงสำหรับคนบางคน แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่ขาดความพร้อมในปัจจัยต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ ยิ่งมีความ จำเป็นมากที่สุด
คนที่ขาดความพร้อมต้องการการศึกษามาก มักเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมตลอดเวลา การศึกษาที่ได้รับก็มักเป็นบริการที่กระท่อนกระแท่น ไม่เพียงพอกับการเรียนรู้ที่เหมาะสม ไม่พอแม้เพียงเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ตรงข้ามกับผู้ที่มีความพร้อมพอจะช่วยตนเองได้ กลับได้รับบริการที่มีคุณภาพและปริมาณที่ดีกว่ามาก ดังจะเห็นได้จากสถานศึกษาในเมืองกับในชนบท ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ การศึกษานอกจาก จะไม่สามารถสร้างความพร้อมที่เพียงพอกับผู้ต้องการแล้ว ยังส่งเสริมให้ช่องว่างระหว่าง คนรวยกับคนจนแตกต่างกันมากขึ้นด้วย
เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์การศึกษาเสียใหม่ให้หันมาให้ความสำคัญกับคนยากจนคนเสียเปรียบ และคนด้อยโอกาสให้มากขึ้นทรัพยากรของรัฐต้องนำมาใช้จ่าย เพื่อปรับปรุงบริการการศึกษา สำหรับคนยากจนให้ดีขึ้นเป็นพิเศษ ให้เพียงพอกับการสร้างลักษณะสิสัยและความพร้อมที่จำเป็น ถ้าคนยากจน คนเสียเปรียบ คนด้อยโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และมีคุณภาพ แล้ว ปัญหาต่าง ๆ ในบ้านเมืองก็จะลดน้อยลงไปโดยปริยายและยังทำให้เขากลายเป็นกำลัง สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดีด้วย
การศึกษานอกจากเป็นปัจจัยที่ 5 แล้ว ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต และเป็นปัจจัยเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติในอนาคตอีกด้วย เราจงฝากความหวังของชาติ ด้วยการพัฒนาการศึกษากันเถิด

ขอขอบคุณ http://www.student.chula.ac.th/~49447199/Related%20word.htm





แนวพระราชดำริด้านการป่าไม้

แนวพระราชดำริด้านการป่าไม้



บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด


เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรง เล่าถึงแรงบันดาลใจ ในความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ป่า น้ำ ดิน ซึ่งโยงใยมีผลกระทบต่อกัน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ว่า ".....อาจมีบางคนเข้าใจว่า ทำไมถึงสนใจเรื่องชลประทาน หรือ เรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดินแล้วให้เขียนว่า ภูเขาต้องมีป่า อย่าง นั้นเม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ไปทำความเสียหาย ดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ ดิน และเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือด ร้อนตลอด ตั้งแต่ดินภูเขาจะหมด ไปกระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มี ตะกอนลงมาในแม่น้ำทำให้น้ำท่วมนี่นะ เรียนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ....."

การที่ทรงเห็นความสำคัญของปัญหาป่าเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลกระ ทบต่อปัญหาด้านอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่ปัญหาเรื่องดิน เรื่องน้ำเท่านั้น หากโยงใยถึง ปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง คุณธรรมและระบบนิเวศน์ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาป่า มิได้เป็นกิจกรรมที่ดำเนินไปอย่าง โดดๆ หากแต่รวมเอางานพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด เข้าไปทำงานในพื้นที่ อย่าง ประสานสัมพันธ์กัน แนวพระราชดำริด้านการป่าไม้ จำแนกออกเป็นหมวดหมู่ตามงาน ได้ดังนี้

1. การอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม

2. การฟื้นฟูสภาพป่าและการปลูกป่า

3. การพัฒนาเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน


ขอบคุณ http://atcloud.com/stories/68245


ปรากฏการณ์โลกร้อน

ปรากฏการณ์โลกร้อน


ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา นับถึง พ.ศ. 2548 อากาศใกล้ผิวดินทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีค่าสูงขึ้น 0.74 ± 0.18 องศาเซลเซียส ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ของสหประชาชาติได้สรุปไว้ว่า “จากการสังเกตการณ์การเพิ่มอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณตั้งแต่ พ.ศ. 2490) ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากการเพิ่มความเข้มของแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นผลในรูปของปรากฏการณ์เรือนกระจก” ปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่าง เช่น ความผันแปรของการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์และการระเบิดของภูเขาไฟ อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อการเพิ่มอุณหภูมิในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมจนถึง พ.ศ. 2490 และมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการลดอุณหภูมิหลังจากปี 2490 เป็นต้นมา ข้อสรุปพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองโดยสมาคมและสถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า 30 แห่ง รวมทั้งราชสมาคมทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญของประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ แม้นักวิทยาศาสตร์บางคนจะมีความเห็นโต้แย้งกับข้อสรุปของ IPCC อยู่บ้าง แต่เสียงส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลกโดยตรงเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ แบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศที่สรุปโดย IPCC บ่งชี้ว่าอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยที่ผิวโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2544–2643) ค่าตัวเลขดังกล่าวได้มาจากการจำลองสถานการณ์แบบต่างๆ ของการแผ่ขยายแก๊สเรือนกระจกในอนาคต รวมถึงการจำลองค่าความไวภูมิอากาศอีกหลากหลายรูปแบบ แม้การศึกษาเกือบทั้งหมดจะมุ่งไปที่ช่วงเวลาถึงเพียงปี พ.ศ. 2643 แต่ความร้อนจะยังคงเพิ่มขึ้นและระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายสหัสวรรษ แม้ว่าระดับของแก๊สเรือนกระจกจะเข้าสู่ภาวะเสถียรแล้วก็ตาม การที่อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลเข้าสู่สภาวะดุลยภาพได้ช้าเป็นเหตุมาจากความจุความร้อนของน้ำในมหาสมุทรซึ่งมีค่าสูงมาก การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และคาดว่าทำให้เกิดภาวะลมฟ้าอากาศสุดโต่ง (extreme weather) ที่รุนแรงมากขึ้น ปริมาณและรูปแบบการเกิดหยาดน้ำฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบอื่นๆ ของปรากฏการณ์โลกร้อนได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของผลิตผลทางเกษตร การเคลื่อนถอยของธารน้ำแข็ง การสูญพันธุ์พืช-สัตว์ต่างๆ รวมทั้งการกลายพันธุ์และแพร่ขยายโรคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง ได้แก่ปริมาณของความร้อนที่คาดว่าจะเพิ่มในอนาคต ผลของความร้อนที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดกับแต่ละภูมิภาคบนโลกว่าจะแตกต่างกันอย่างไร รัฐบาลของประเทศต่างๆ แทบทุกประเทศได้ลงนามและให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ซึ่งมุ่งประเด็นไปที่การลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก แต่ยังคงมีการโต้เถียงกันทางการเมืองและการโต้วาทีสาธารณะไปทั่วทั้งโลกเกี่ยวกับมาตรการว่าควรเป็นอย่างไร จึงจะลดหรือย้อนกลับความร้อนที่เพิ่มขึ้นของโลกในอนาคต หรือจะปรับตัวกันอย่างไรต่อผลกระทบของปรากฏการณ์โลกร้อนที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้น




Thanks Credit http://atcloud.com/stories/47169





วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชาเขียว ชาดำ ลดความเสี่ยงความผิดปกติในสมอง

การดื่มชาเขียวหรือชาดำช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติในสมอง







นักวิจัยของมหาวิทยาลัย UCLA ได้พบว่าการดื่มชาอย่างน้อยวันล่ะ 3 แก้ว ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวหรือชาดำธรรมดานั้นมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่มีภาวะความผิดปกติของสมองได้ ถึง 21% และยังพบอีกว่าถ้ายิ่งดื่มมากก็จะทำให้เพิ่มอัตราในการช่วยป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้มากขึ้น


จากข้อมูลที่ได้พบว่าในจำนวนคนกว่า 195,000 คนมีคนเป็นจำนวนถึง 4,378 คนที่ป่วยเป็นโรคที่มีภาวะความผิดปกติทางสมอง หรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งในปัจจุบันในทางการแพทย์นั้นถือว่ามีวิธีในการรักษาโรคเกี่ยวกับการมีภาวะความผิดปกติทางสมองน้อยมาก โดยปกติแล้วการเกิดภาวะบกพร่องของระบบประสาทเฉพาะที่อย่างฉับพลันทันใด จะมีสาเหตุมาจากการเกิดมีเลือดออกในสมองหรือการที่สมองขาดเลือด






ปัจจัยที่ทำให้เสียงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองนั้น มีดังต่อไปนี้ ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ โรคเบาหวาน มีปริมาณไขมันในเลือดสูง เป็นโรคหัวใจ มีความผิดปกติของหลอดเลือด มีโรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เลือดข้นหรือมีเม็ดเลือดแดงสูง มากไปกว่านั้นก็จะเกี่ยวกับอายุที่สูงวัยขึ้น ดื่มสุรา หรือเกี่ยวกับทางด้านกรรมพันธุ์ ซึ่งภาวะการเกิดโรคหลอดเลือดสมองนั้น ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่จะต้องไปถึงโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้







เนื่องจากการักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้นถือว่ามีวิธีในการรักษาที่น้อยมากและถ้าป่วยเป็นโรคนี้แล้วก็มีโอกาสที่จะหายได้ยาก การรับประทานยาเพื่อการรักษานั้นก็ค่อนข้างมีความเสี่ยงว่าจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นของโรค จึงเป็นการดีที่จะหาทางป้องกันการเกิดโรคไว้ก่อน โดยทางนักวิจัยได้พบว่าชาจะมีส่วนประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเรามาก ไม่ว่าจะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และ EGCG (epigallocatechin gallate) ที่ถือเป็นสารสกัดที่สำคัญในชาเขียวที่สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆรวมถึงโรคมะเร็งด้วย ที่สำคัญสารตัวนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดหลักที่ใช้ในการหล่อเลี้ยงหัวใจและสมอง มากไปกว่านั้นในใบชายังมีสาร theanine ที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อการสูบฉีดของหัวใจทำงานได้ดีนั้นก็จะทำให้การเดินทางของเลือดไปเลี้ยงสมองทำได้ดีเช่นกัน






โดยร่างกายคนเราสามารถดูดซับสาร theanine ไปใช้ประโยชน์ได้เกือบ 100% ลักษณะของสารตัวนี้จะเป็นโมเลกุลที่สามารถเคลื่อนผ่านหลอดเลือดที่มีหน้าที่เลี้ยงสมองได้อย่างดี ทำให้ช่วยลดการเกิดภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ดั้งนั้นการดื่มชาอย่างน้อยวันละ 3 แก้วจะช่วยป้องกันโรคต่างๆมากมาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับสมอง






ขอขอบคุณ : http://www.vnmirror.com/article03.html



ข้อควรปฎิบัติในการกินเจ

ข้อควรปฎิบัติในการกินเจ







1.) พืชผักและผลไม้ เป็นของคู่กันเสมอ นอกจากผักสดๆ ที่นำมาปรุงเป็นอาหารแล้ว คนกินเจจำเป็นต้องรับประทานผลไม้สดๆ หลังอาหารทุกมื้ออย่างสม่ำเสมอ การเลือกซื้อผักผลไม้เพื่อนำมาปรุง และการบริโภคในแต่ละวันควรจัดให้ได้ครบตามสีของธาตุทั้ง 5 ดังนี้

1. สีแดง (แดงส้ม, แสด, ชมพู) สัญลักษณ์ ธาตุไฟ

2. สีดำ (น้ำเงิน, ม่วง) สัญลักษณ์ ธาตุน้ำ

3. สีเหลือง (เหลืองแก่, เหลืองอ่อน) สัญลักษณ์ ธาตุดิน

4. สีเขียว (เขียวเข้ม, เขียวอ่อน) สัญลักษณ์ ธาตุไม้

5. สีขาว (ขาวนวล, ขาวสะอาด) สัญลักษณ์ ธาตุโลหะ

ผักผลไม้ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือเป็นประเภทยาก เช่น พวกผักผลไม้เมืองหนาว ควรยึดหลักราคาถูก ประหยัด แต่มีคุณประโยชน์สูง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้จักฉลาดกิน ฉลาดใช้ ประหยัดยอด ประโยชน์เยี่ยม
ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยผักผลไม้หลายหลาก ตลอดปีเราสามารถหามาบริโภคได้ไม่ขาดแคลน จึงควรเลือกซื้อมาปรุงและบริโภคให้ครบทั้ง 5 สี โดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนนำมาบริโภคในแต่ละวันโดยไม่ซ้ำกัน และไม่ควรเลือกทานเฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ตนชอบ โดยไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์หลายๆ ท่านเลือกรับประทานผักผลไม้เฉพาะอย่างเพื่อความอร่อยเท่านั้น เป็นการรับประทานอาหารเจที่ยังไม่ถูกหลัก


2.) เมล็ดธัญพืช นอกจากผักผลไม้ที่ต้องรับประทานให้ครบทุกสีเป็นประจำแล้ว เมล็ดธัญพืชได้แก่ ถั่ว ถั่วแปลกแข็งทุกประเภท พืชที่เป็นหัวในดิน เช่น เผือก มัน กลอย มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยเฉพาะเมล็ดถั่วมีสารอาหารครบทุกหมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต คือแป้งและน้ำตาล โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่หลายชนิด คนที่กินเจควรรับประทานถั่วทั้ง 5 สีเป็นประจำ ได้แก่ ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่งเหลือง ถั่วเขียว ถั่วขาว
ถั่วทั้ง 5 สีนี้ ราคาไม่แพงมีอยู่แพร่หลาย บางทีก็ทำเป็นของหวานต่างๆ เช่น ถั่วดำบวช ถั่วแดงต้มน้ำตาล ถั่วเหลืองน้ำกะทิ (เต้าส่วน) ถั่วเขียวต้มน้ำตาลกรวด ถั่วลิสงอบ หรือเคลือบน้ำตาล ลูกเดือยบวช ถั่วขาวกวน ฯลฯ สำหรับถั่วขาวไม่ค่อยจะมีการปลูกแพร่หลายในประเทศไทย แต่ก็สามารถรับประทานถั่วลิสงซึ่งให้ประโยชน์ทดแทนกันได้
ทุกคนควรรับประทานถั่วดังกล่าวหมุนเวียนไปให้คบทุกสีจะทำให้ร่างกาย ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ และช่วยเสริมให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทำงานได้ดียิ่งขึ้น
เนื้อเมล็ดในของพืชผัก อันได้แก่ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม มันฮ่อ นับเป็นของขบเคี้ยวที่คนกินเจรู้จักดี เนื้อในของเมล็ดพืชดังกล่าว เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินมากมายหลายชนิด ซึ่งทรงคุณค่าทางโภชนาการอย่างยิ่ง

ถั่วทั้ง 5 สีที่ให้คุณประโยชน์ต่ออวัยวะหลักภายใน

1. ถั่วแดง (RED BEANS) ให้คุณต่อหัวใจ

2. ถั่วดำ (BLACK BEANS) ให้คุณต่อไต

3. ถั่วเหลือง (SOY BEANS) ให้คุณต่อม้าม

4. ถั่วเขียว (GREEN BEANS) ให้คุณต่อตับ

5. ถั่วขาว (WHITE BEANS) ให้คุณต่อปอด

ธาตุทั้ง 5 สี ถั่วแต่ละสี บำรุงอวัยวะ ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไม้ ธาตุโลหะ แดง ดำ เหลือง เขียว ขาว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วขาว หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด



3.) การได้รับประทานสาหร่ายทะเลทั้งสดและแห้งพร้อมทั้งใช้เกลือทะเลมาปรุงลงในอาหาร ทั้ง 2 อย่างนี้มีไอโอดีน ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคคอพอกได้เป็นอย่างดี


4.) งาขาวและงาดำ ในอาหารและขนมคนกินเจควรใช้งาปรุงผสมด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงาขาวหรืองาดำ เพราะในเมล็ดงามีกรดไขมันไลโนเลอิค (LINOLEIC ACID) ซึ่งจำเป็นต่อร่างกายมากแต่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ สำหรับผู้ทำอาหารเจรับประทานเอง ให้นำงาขาวมาล้างเอาผงฝุ่นออกจนสะอาดดี ตักใส่ตะแกรงทิ้งไว้ให้หมาดแล้วใช้ไฟอ่อนๆ คั่วในกระทะจนสุกเหลืองพอเย็นจึงนำมาโขลกหรือ ปั่นให้แตกด้วยเครื่อง จะทำให้ได้ประโยชน์จากน้ำมันที่อยู่ในเมล็ดดียิ่งขึ้น งานที่บดแล้วจะมีกลิ่นหอมสามารถนำใช้ปรุงอาหาร และขนมได้ทุกประเภท ทำให้มีรสดี หอมน่ารับประทาน โดยปกติผู้ที่กินเจควรรับประทานงานในปริมาณวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ก็นับว่าเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย

5.) ผู้ที่กินเจ ไม่ควรรับประทานรสจัดเกินไป เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด ขมจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด รสชาติที่จัดมากๆ จะส่งผลไปถึงอวัยวะหลักดังนี้

รสขม ส่งผลต่อ หัวใจ
รสเค็ม ส่งผลต่อ ไต
รสหวาน ส่งผลต่อ ม้าม
รสเปรี้ยว ส่งผลต่อ ตับ
รสเผ็ด ส่งผลต่อ ปอด


6.) หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง เครื่องกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป ควรหันมารับประทานอาหารสดที่ปรุงใหม่ๆ จะให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า

7.) เครื่องดื่ม คนกินเจควรดื่มน้ำผลไม้สดๆ ตามธรรมชาติ เช่น น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ น้ำสับปะรด น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว น้ำใบบัวบก น้ำมะตูม ฯลฯ น้ำผลไม้ดังกล่าวจะทำให้ร่างกายและผิวพรรณสดชื่นเปล่งปลั่ง เราควรงดน้ำหวานที่ปรุงแต่งรสและเจือสีสังเคราะห์ เพื่อหลีกเลี่ยงพิษภัยจากสิ่งปลอมปน
นอกจากการดื่มน้ำผลไม้สดๆ แล้ว ทุกคนต้องดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ 8 แก้ว เป็นประจำ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหลักความรู้ในการปรุงและบริโภคอาหารเจ ซึ่งคนกินเจต้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้ได้มาซึ่งพลานามัยที่สุขสมบูรณ์พร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ




ขอบคุณเนื้อหาจาก บ้านฝัน.คอม ; http://www.mthai.com/